“วัดพระธาตุเสด็จ” 1ใน2 วัดใน จ.ลำปาง ที่เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุฯ คู่กับวัดพระธาตุลำปางหลวง จึงถือเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดของจ.ลำปาง
วัดพระธาตุเสด็จ ตั้งอยู่ที่ ต.เสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง ตามตำนานเมืองละกอน หรือเมืองเขลางค์ อันอยู่ในตำนานพื้นเมือง และตำนานจามเทวีวงศ์ เล่าถึงวัดพระธาตุเสด็จว่าหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๑๘ ปี ได้มีพระอรหันต์ ๗ องค์มาจากชมภูทวีปได้พากันมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในจังหวัดลำปาง 2 วัด คือวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุเสด็จ เกิดขึ้น เดิมเรียกสถานที่นี้ว่า ดอนโพยง หรือ ดอนโพง เพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ดินและเป็นป่าช้าสำหรับฝังซากศพของชาวบ้าน ตอนกลางคืนจะมีหมา มีแร้ง มาแทะกินซากศพ และที่บริเวณนี้จะมีต้นขะจาวใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ในคืนวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีดวงไฟพุ่งเป็นแสงสว่างออกไปให้ชาวบ้านได้เห็นและชาวบ้านแถวนี้เข้าใจว่าเป็นแสงของผีโพง ที่มากินซากลางคืน จึงเรียกชื่อสถานที่นี้ว่า ดอนโพยง หรือ ดอนโพง
องค์พระธาตุเสด็จ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ปรากฏรูปแบบศิลปะแบบบัวถลาแบบสุโขทัย กว้าง ๗ วา สูง ๑๕ วา สร้างในสมัยเจ้าหาญแต่ท้องในปี พ.ศ. ๑๙๙๒ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับพระธาตุของวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ขนาดเล็กกว่า ในบริเวณรอบๆ องค์พระธาตุก็จะมีอุโบสถ วิหารหลวง วิหารสุวรรณโคมคำ เรียกรวมว่าวิหารบริวารองค์พระธาตุ และในปีพ.ศ. ๒๓๔๙ ตรงกับเดือนยี่เหนือ ขึ้น ๑๐ ค่ำ วันพฤหัสบดี เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวทำให้เกิดความเสียหายกับเจดีย์พระธาตุ แท่นเจดีย์ที่ทำนั้นทรุดโทรมลงมาพระยาลัวะ เจ้าเมืองศรีนครชัย พร้อมทั้งพระสงฆ์มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน จึงได้จัดการบูรณะพระธาตุ และประกาศเชิญชวนประชาชนมาฉลองสมโภชกัน ๗ วัน ๗ คืน ในวันเพ็ญเดือน ๓ (เดือนเหนือ ๕ เหนือ) ซึ่งเป็นประเพณีการจัดงานเทศกาลประจำปีมาจนปัจจุบัน
วิหารสุวรรณโคมคำ หรือวิหารพระพุทธ เป็นวิหารพื้นเมืองเครื่องไม้ ศิลปะล้านนาไทย สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ลำดับที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๖ พร้อมกับสร้างพระประธานในวิหาร และเขียนลวดลายประดับเสาวิหารด้วยการลงรักปิดทอง วิหารนี้จึงเรียกชื่อตามสถาปัตยกรรมล้านนาว่า วิหารลายคำ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ วิหารสุวรรณโคมคำ หรือวิหารพระพุทธ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ นำโดยคณะศรัทธาแม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์
วิหารจามเทวี หลังเดิมสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏชัด หลังปัจจุบันเป็นวิหารศิลปะรุ่นตระกูลสล่า บูรณะในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยคณะศรัทธาอุบาสิกาในจังหวัดลำปาง นำโดยแม่เลี้ยงป้อม บริบูรณ์
วิหารหลวงหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นบนพื้นที่ของวิหารหลังเดิมที่รื้อทิ้งไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเนื่องมาจากสภาพชำรุดทรุดโทรม วิหารหลวงหลังปัจจุบัน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ เป็นประธานของวิหาร ปัจจุบันวิหารหลวงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและประเพณีเนื่องในพุทธศาสนารวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของวัดที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนิกชน
หลวงพ่อห้ามญาติ พระประธานในพระวิหารกลาง เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางลีลา ประดิษฐานในบุษบกงดงามมาก