วันเข้าพรรษา วันที่พระสงฆ์อธิฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามพระธรรมวินัยกำหนดไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
วันเข้าพรรษา อานิสงส์จากการถวายเทียนพรรษา และอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก คือ ดอกเข้าพรรษา สัญลักษณ์แห่งประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ประเพณีที่มีที่เดียวในโลก และยังเป็นพืชประจำฤดูฝนอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์จะอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน หรืออาจจะพูดเป็นภาษาทั่วไปก็คือ จำพรรษา “จำ คือ พักอยู่ พรรษา คือ ฤดูฝน” เข้าพรรษา ถือเป็นข้อปฏิบัติของพระสงฆ์โดยตรงไม่มีขอยกเว้น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือเดือน 8หลัง หากปีไหนสองหน เป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ต่อเนื่องจาก วันอาสาฬหบูชา
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน หรือ 1 พรรษา ก็เพราะว่าในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ยากลำบากในการเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาของพระสงฆ์ เมื่อครั้งในอดีตการเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระสงฆ์ ต้องเดินเท้าผ่านท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน บางพื้นที่ต้องเหยียบต้อกล้า ต้นข้าวของชาวบ้านไป
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนพุทธศาสนิกชน จึงให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่สถานที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน และเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่พระสงฆ์จะได้ศึกษาพระธรรมวินัย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคีในคณะสงฆ์อีกด้วย
นอกจากนี้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 เดือน ยังเป็นโอกาสพิเศษที่พุทธศาสนิกชนจะได้บำเพ็ญกุศล เข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม รวมไปถึงได้ถวายเทียนพรรษา หลอดไฟ ผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อใช้ประโยชน์เพียงพอตลอดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือน
ในอดีตชายไทยที่อายุ 20 ปี จะนิยมบรรพชาอุปสมบทในช่วงนี้ เพื่อจำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน การบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลนี้ จะเรียกกันว่า บวชเอาพรรษา ปัจจุบันจะนิยมบวชกันเป็นอย่างมาก เป็นการบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง รวมไปถึงเป็นการฝีกตัวเองให้จิตใจสงบมากขึ้น
ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ปุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
- ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
ดอกเข้าพรรษา
ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้ประจำเทศกาลเข้าพรรษา เรียกอีกอย่างว่า ดอกหงส์เหิน ในวันเข้าพรรษาของทุกๆปี ชาวอำเภอพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จะนำดอกไม้ชนิดนี้มาใช้ตักบาตร จนกลายเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น ลักษณะของดอกและเกสร มีลักษณะประดุจดังตัวหงส์ที่กำลังเหิน บินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม
หงส์เหิน (Globba Winiti) เป็นพืชตระกูลเดียวกับขิง เป็นดอกไม้เมืองร้อน เป็นพืชล้มลุก จะออกดอกปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่มักมีดอกสีม่วง สีเหลือง และสีขาว มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อ โดยรอบจากโคนถึงปลาย สีของกลีบดอกแต่ละสีมีความหมาย ดังนี้
- สีม่วง หมายถึง ได้บุญกุศลแรงที่สุด (เป็นสีที่หายากที่สุด)
- สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
ประเพณีสำคัญขึ้นในวันเข้าพรรษามี 2 ประเพณี คือ
- ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เมื่อในอดีตกาล นางวิสาขาต้องการนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารที่บ้าน แต่เมื่อไปที่วัด กลับไม่เจอเพราะ เจอแต่ชีเปือย นางก็รู้ด้วยปัญญาว่า คงเป็นพระที่กำลังอาบน้ำฝนอยู่ นางจึงขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีเป็นประจำ จึงเกิดเป็นประเพณีของชาวพุทธสืบต่อกันมา
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา เมื่อในอดีตกาล ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนในปัจจุบัน เมื่อพระภิกษุอยู่รวมกันมากๆ เพื่อปฏิบัติกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ตอนเช้ามืดหรือพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน